ปัญหา สิว ทั้ง 6 ประเภท
ปัญหาสิวทั้ง 6 ประเภท ผิวใสไร้สิว ไม่พึ่งฟิลเตอร์ กลายเป็นความฝันอันสูงสุดของหนุ่มสาวในยุคนี้ไปเสียแล้ว จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นยุคไหน ทุกคนต่างก็ปรารถนาการมีผิวหน้าที่เรียบเนียนเหมือนเพิ่งเกิดใหม่กันทั้งนั้น แต่เพราะด้วยสภาพอากาศ และมลภาวะต่างๆ ที่ต้องเผชิญในทุกวัน จึงเป็นเรื่องที่ยากนักที่สิวจะไม่เกิดขึ้นเลย อย่างไรก็ตามเมื่อสิวยกทัพเข้ามาบุกมาแล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำก่อนจะเริ่มการรักษา นั่นก็คือ การที่เราจำเป็นต้องรู้ถึงชนิดสิวที่เราเป็นอยู่นั่นเอง ซึ่งหลายคนมักจะมองข้ามข้อนี้ไป เพียงเพราะคิดว่าใช้ผลิตภัณฑ์ดีๆ สิวก็คงหาย
ซึ่งความจริงแล้วหารู้ไม่ว่าสิวนั้นมีหลากหลายชนิด ใช่ว่าสิวทุกประเภทจะเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นสิวอุดตัน สิวผด สิวอักเสบ สิวแต่ละชนิดนั้นมีวิธีการรักษา รวมถึงตัวยาที่ใช้แตกต่างกันไป ดังนั้นบทความนี้ เราจึงขอพาทุกคนมาเช็คดูว่า สิวที่เราเป็นอยู่นั้น เป็นสิวแบบไหนกันแน่ และมีวิธีรักษาอย่างไร เพื่อที่ทุกคนจะได้รับมือได้อย่างถูกต้อง ตามไปดูกันเลย
สิว เกิดจากอะไร ?
ปัญหาสิวทั้ง 6 ประเภท สิว (acne) เกิดจากการอุดตันของ คอมีโดน (comedone) ภายในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันขึ้นมาบนใบหน้า ทั้งนี้หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะทำให้ลุกลามกลายเป็นสิวอักเสบได้ และหากมีอาการรุนแรงมาก ก็จะนำไปสู่ปัญหารูขุมขนกว้าง จนกลายเป็นหลุมสิวในที่สุด
คอมีโดน คืออะไร ?
คือสารที่มีลักษณะเหนียว ที่เกิดจากการรวมตัวกันของน้ำมัน + ขนอ่อน + เซลล์ผิวหนังหลุดลอก + แบคทีเรีย ซึ่งหากมีการสะสมของสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นก้อนคอมีโดน ก่อนจะเกิดเป็นสิวลักษณะต่างๆ ตามมา
รูปที่ 1 แสดงโครงสร้างรูขุมขน
ปัจจัยกระตุ้นการเกิด สิว
หลายคนคงทราบกันแล้วว่า ต้นเหตุของการเกิดสิวทั้งหลาย เกิดจากการอุดตันของเจ้าคอมีโดน ดังนั้นหากใครไม่ต้องการให้สิวเข้ามาทักทาย อันดับแรกเลยแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดของคอมีโดน โดยมีปัจจัยดังนี้
รูปที่ 2 แสดงถึงปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดคอมีโดน
- น้ำมัน : เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวได้ง่าย เพราะยิ่งต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มการอุดตันภายในรูขุมขนมากขึ้นเท่านั้น โดยพฤติกรรมที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามาก ได้แก่
- การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ครีม เนย ชีส น้ำมัน เป็นต้น
- ความเครียด นอนดึก พักผ่อนน้อย
- ฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen)
- อากาศร้อน ความชื้นสูง
- การรบกวนผิวมากเกินไป เช่น สัมผัส แกะเกา ขัดถู เสียดสีผิว เป็นต้น
- ขนอ่อน : โดยปกติในแต่ละรูขุมขนนั้นจะมีเส้นขนเพียง 1 เส้น แต่ในบางครั้งกลับมีขนอ่อนเส้นเล็กๆ หลายเส้นอัดแน่นอยู่ในรูเดียวกัน พอยิ่งมีการรวมตัวระหว่างน้ำมันกับเซลล์ผิวที่หลุดลอก ก็จะยิ่งทำให้เกิดเป็นสิวอุดตันได้ง่าย นอกจากนี้การเกิดขนคุดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน
- เซลล์ผิวหลุดลอก : ร่างกายของเราจะมีการผลัดเซลล์ผิวในทุกๆ 28 วัน เซลล์เก่าจะหลุดลอกไป ส่วนเซลล์ผิวใหม่จะขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้หากเซลล์ผิวที่ตายแล้วไม่มีการผลัดออกไป แถมยังตกค้างอยู่ภายในรูขุมขน ก็จะทำให้เกิดการอุดตันกลายเป็นเม็ดสิวขึ้นมาได้ และนอกจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวตามธรรมชาติแล้ว ยังมีการหลุดลอกที่มาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ การดูแลผิวแบบผิดวิธี หรือการเกิดโรคผิวหนังบางชนิด เป็นต้น
- แบคทีเรีย : จริงๆ แล้วภายหลังจากการอุดตันของคอมีโดน สิวที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นในลักษณะของสิวอุดตันซะส่วนใหญ่ โดยสามารถหายไปได้เอง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Propionibacterium acnes ซึ่งมีชื่อย่อว่า P.acne (พี แอคเน่) จากสิวอุดตันที่เป็นอยู่ก็อาจพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบเม็ดใหญ่ได้
สิว มีกี่ประเภท ?
สิวอุดตัน..สิวผด..สิวอักเสบ..สิวหัวช้าง..สิวไม่มีหัว.. หลากหลายปัญหาสิว ทำให้คนไม่น้อยเลยทีเดียวเกิดความมึนงงสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นสิวประเภทไหนกันแน่ ทั้งนี้เราจะมาอธิบายถึงความแตกต่างของสิวแต่ละประเภทให้เข้าใจกัน เพื่อที่ทุกคนจะได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับปัญหาสิวของตนเอง ตามมาดูกันเลย
รูปที่ 3 แสดงการแบ่งประเภท สิว
‘สิว’ โดยทั่วไปเราจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ สิวแท้ และสิวเทียม ซึ่งสิวแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ทั้งหน้าตารวมถึงวิธีการดูแล
- สิวแท้
- สิวไม่อักเสบ (Non-inflammatory acne) คือสิวที่เกิดจากการอุดตันของคอมีโดน (Comedone) ภายในรูขุมขน หรือเรียกอีกอย่างว่า สิวอุดตัน อันได้แก่ สิวหัวขาว สิวหัวดำ เป็นต้น ซึ่งหากเราปล่อยทิ้งไว้จนมีการติดเชื้อ ก็จะทำให้สิวอุดตันสามารถพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบได้
- สิวอักเสบ (Inflammatory acne) เป็นสิวที่มีการพัฒนาต่อจากสิวอุดตัน ซึ่งพบว่ามีการอักเสบจากการติดเชื้อของแบคทีเรียที่ชื่อว่า P.acne (พี แอคเน่) จึงทำให้สิวที่เกิดขึ้นมีลักษณะบวมแดง เม็ดใหญ่ อีกทั้งเวลาสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ สิวอักเสบได้แก่ สิวหัวหนอง สิวอักเสบ สิวหัวช้าง เป็นต้น
- สิวเทียม
- สิวเทียม มีสาเหตุการเกิดที่ไม่เหมือนกับสิวชนิดข้างต้น โดยสิวเทียมเกิดมาจากเนื้องอกภายในต่อมเหงื่อ (Syringoma) ลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ขึ้นเป็นปื้น เวลาสัมผัสจะรู้สึกสากมือ และมีอาการคันร่วมด้วย สำหรับสิวเทียมที่พบได้บ่อย คือ สิวผด
6 ประเภท สิว ที่ควรรู้
ทีนี้เรามาเจาะลึกกันแบบละเอียดดีกว่าว่า สิวที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น สิวแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
1. สิว หัวดำ (Black heads)
สิวหัวดำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิวหัวเปิด เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันของไขมันในรูขุมขน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการที่มีสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันอย่างที่หลายคนเข้าใจ สำหรับสาเหตุที่ทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำนั้น เกิดจากการที่ไขมันในร่างกายถูกขับออกมาแล้วเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน จนทำให้หัวสิวกลายเป็นจุดสีดำอย่างที่เห็นนั่นเอง และนอกจากหัวสิวจะมีสีดำแล้ว อาจมีสีอื่นๆ ได้ตั้งแต่สีเหลือง ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม สิวชนิดนี้สามารถบีบหรือกดออกเองได้ แต่ควรทำอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น
2. สิว หัวขาว (White heads)
สิวหัวขาว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิวหัวปิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขึ้นมาจากผิวหนัง เวลาสัมผัสจะรู้สึกเป็นไตแข็งๆ ไม่เจ็บแต่อย่างใด สิวหัวขาวเป็นการอุดตันของไขมันที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง โดยก้อนไขมันจะไม่ได้สัมผัสกับอากาศภายนอกเหมือนสิวหัวดำ จึงปรากฏเป็นหัวสิวและรูเปิดไม่ค่อยชัดเจน และด้วยเหตุนี้ทำให้หลายๆ คนพยายามบีบเค้นเพื่อให้ไขมันออกมา แต่ขอบอกเลยว่าหัวสิวประเภทนี้หากบีบไม่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบเกิดการบอบช้ำ แถมหากกดไม่ออกก็จะทำให้ไขมันทะลักกลับเข้าไปใหม่ มีโอกาสกลายเป็นสิวอักเสบได้
3. สิว อักเสบ (Papule)
สิวอักเสบ เป็นสิวที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และเป็นสิวระยะแรกที่พัฒนาต่อมาจากสิวอุดตัน โดยสิวชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงและมีการอักเสบเกิดขึ้น หากสัมผัสจะไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ ลักษณะการเกิดสิวจะเหมือนกับสิวอุดตัน คือเริ่มมาจากการที่ไขมันหลั่งออกมาจากต่อมไขมันในปริมาณมาก เมื่อรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ก็จะเกิดการอุดตันในรูขุนขน และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะทำให้เจริญเติบโตกลายเป็นสิวอักเสบนั่นเอง
4. สิว หัวหนอง (Pustule)
สิวหัวหนอง เป็นสิวที่ลุกลามมาจากสิวอักเสบ มีลักษณะเป็นตุ่มแดง และมีหนองอยู่ตรงกลาง หากสัมผัสจะรู้สึกเจ็บขึ้นมาทันที หรือบางครั้งอาจรู้สึกร้อนผ่าวบริเวณที่เป็น กรณีมีอาการรุนแรงหรือหนองกินเนื้อเข้าไปลึก อาจทำให้ผิวของเราเกิดรอยแผลเป็นได้ในภายหลัง
5. สิว หัวช้าง (Cysts/Nodule)
สิวหัวช้าง สิวถุงน้ำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิวซีสต์ โดยรวมมีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกแข็งเป็นไตและเจ็บมาก เกิดจากการอุดตันในรูขุมขนจนมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบกลายเป็นถุงซีสต์ขนาดใหญ่ ซึ่งภายในถุงอาจประกอบไปด้วยน้ำ หนอง หรือลมก็ได้ สิวชนิดนี้มักอยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง จึงไม่แนะนำให้บีบออกเอง ควรให้แพทย์เจาะหรือผ่าหนองออก เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน
6. สิว ผด (Acne estivalis)
สิวผด สิวเทียม หรือบางคนเรียกว่า สิวหิน แท้จริงแล้วสิวประเภทนี้ ไม่ใช่ ‘สิว’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันคืออาการแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเนื้องอกภายในต่อมเหงื่อ (Syringoma) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเม็ดเล็กๆ ไม่มีหัว สัมผัสแล้วจะรู้สึกสากมือ โดยสิวผดมักจะเห่อขึ้นมาตอนช่วงอากาศที่ร้อนอบอ้าว ตอนเจอฝุ่นละอองเยอะๆ หรือแม้แต่ช่วงที่ผิวอ่อนแอ ซึ่งบางครั้งพบว่ามีอาการคันร่วมด้วย
ยาทาและยารับประทานสำหรับรักษา สิว
สำหรับวิธีรักษาสิวที่ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือการใช้ยาในการรักษา ซึ่งยาที่ว่านี้ มีทั้งชนิดทาภายนอกและชนิดรับประทาน จะเลือกรักษาในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของสิวที่เราเป็น สิวที่ไม่มีอาการรุนแรงมักใช้ยาทาภายนอก แต่สำหรับสิวที่มีอาการรุนแรงหรือไม่หายขาดนั้น อาจต้องรับประทานยาร่วมกับการทายา สำหรับตัวยาสำคัญที่มีส่วนช่วยในการรักษาสิว มีดังนี้
ยาทาภายนอก
- ยาทาที่มีส่วนผสมของกรด Salicylic acid (ซาลิไซลิก แอซิด) หรือ BHA มีฤทธิ์ช่วยในการขจัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดลอกออกเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลต่อการรักษาสิวอุดตันและรอยแผลจากสิว ช่วยฟื้นฟูบำรุงผิวจากการระคายเคือง รวมถึงยังลดการอักเสบของสิว
- ยาทาที่มีส่วนผสมของ Retinoic acid (เรตินอยด์ แอซิด) มีให้เลือกขนาดความเข้มข้นตั้งแต่ 0.025%, 0.05% และ 0.1% ตัวยาออกฤทธิ์ช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดลอกเร็วขึ้น ละลายหัวสิว และลดความมันบนใบหน้า ผลข้างเคียงอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง แห้งลอก หรือดำคล้ำ แนะนำควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด หรือทายาเฉพาะช่วงกลางคืนจะดีที่สุด
- ยาทากลุ่มที่มีส่วนผสมของ Benzoyl Peroxide (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) มีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวให้ลอกหลุดเร็ว ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย P.acne ป้องกันการเกิดสิวอุดตัน ตัวยามีให้เลือกขนาดความเข้มข้นที่ 2.5% และ 5% ก่อนล้างหน้าแนะนำให้ทาทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก
- ยาทาปฏิชีวนะ Clindamycin (คลินดามัยซิน) ขนาด 0.1% ตัวยามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย หลังล้างหน้าใช้ทาเฉพาะบริเวณที่มีสิวอักเสบ
ยารับประทาน
- ยาปฏิชีวนะชนิดทาน เช่น Tetracycline (เททราซัยคลิน), Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน), Erythromycin (อีริโธรมัยซิน) มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P.acne ใช้กับสิวที่มีความรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป
- ยากลุ่มอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอ เช่น Isotretinoin (ไอโสเตรติโนอิน) มีคุณสมบัติลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย P.acne ลดไขมันและการอักเสบของสิว ใช้กับสิวที่มีอาการรุนแรง
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มีคุณสมบัติช่วยลดการผลิตไขมันซีบัม (Sebum) จากต่อมไขมันให้น้อยลง ใช้รักษาสิวในรายที่มีความรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป
ข้อควรระวังในการใช้ยา
กรณีผู้ที่ใช้ยาครั้งแรก ควรเริ่มใช้ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำๆ ก่อน หรืออาจใช้วันเว้นวัน หากผิวเริ่มปรับตัวได้แล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาใช้ทุกวัน หรือเพิ่มขนาดความเข้มข้นตามความเหมาะสม
- ยาทาและยารับประทานบางชนิดไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง เช่น ผิวแห้ง ผิวไวต่อแสง ตา-ปาก-คอแห้ง หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจนำพาไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้
- ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ**
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็น สิว
- สำหรับผู้ที่หน้ามัน ควรใช้สบู่อ่อนล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และไม่ควรใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองมากขึ้น
- ควรเลือกใช้ Moisturizer ที่ระบุไว้ว่า Oil-free, Non-comedogenic โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน
- หากเป็นหัวสิวขนาดใหญ่ ควรใช้การกดสิวร่วมด้วย โดยการนำผ้าชุบน้ำอุ่นวางบนหัวสิวเพื่อเปิดรูขุมขน แล้วจึงค่อยๆ กดหัวสิวออกอย่างเบามือ
- เลือกบริโภคอาหารที่มีค่า Glycemic index (GI) หรือดัชนีน้ำตาลต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดสิวขึ้นได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของไขมัน
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ หรือกรดอ่อนๆ เพื่อผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกอาทิตย์ละครั้ง
- ล้างมือให้สะอาดก่อนทาครีมทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้าโดยตรง
- หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่มีการสัมผัสใบหน้าเป็นประจำ เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว หน้ากากอนามัย เป็นต้น
- ผู้ที่มีปัญหาผมมัน ควรสระผมเป็นประจำทุกวัน
- หมั่นออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายปรับฮอร์โมนให้สมดุล และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้เซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจน ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง
- เว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ลดความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
สรุป
ปัญหาสิวไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสิวอุดตันเพียงหนึ่งจุด ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ การดูแลรักษาสิวตอนที่ยังเป็นน้อยๆ จะช่วยป้องกันการลุกลามของสิวและหลุมสิวได้ดี ทั้งนี้ข้อสำคัญในรักษาสิวให้ได้ผลนั้น เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าตนเองเป็นสิวประเภทใด ซึ่งการสังเกตลักษณะหรืออาการต่างๆ ล้วนมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการหาแนวทางในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรักษา ระยะเวลาในการรักษา หรือแม้แต่ผลข้างเคียงของการรักษา เป็นต้น