“Shopaholics” คุณกำลัง เสพติดการช้อปปิ้ง หรือเปล่า ?
โรคเสพติดการช้อปปิ้ง
Shopaholic คืออะไร?
เป็นโรคที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้งจนมีปัญหาที่ตามมา คนที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกอยากซื้อของตลอดเวลา ซื้อของเดิมๆซ้ำ ๆ ซื้อของที่ไม่จำเป็น แต่จะรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ช้อปปิ้ง แต่เป็นความรู้สึกดีแค่ชั่วคราว เพราะผลที่ตามมา อาจเป็นการใช้จ่ายเกินความจำเป็น ทำให้มีหนี้สินเพิ่มพูน ทะเลาะกับคนในบ้านเพราะต้องแอบซ่อนของ และกลายเป็นความเครียดสะสมได้
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าอาการเหล่านี้เป็นความผิดปกติต่อแรงกระตุ้นภายนอก แต่จิตแพทย์ Astrid Mülle จากมหาวิทยาลัย Hannover Medical School จากเยอรมนี กลับเห็นต่างออกไป เขากล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะยอมรับว่าอาการเสพติดการช้อปปิ้ง เป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง พร้อมระบุว่ามีผู้คนเกือบ 5% กำลังเผชิญกับโรคเสพติดการช้อปปิ้งนี้อยู่
โรคเสพติดการช้อปปิ้งนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อย่างเช่น มีภาวะซึมเศร้า สภาวะวิตกกังวล เป็นคนสมาธิสั้น รู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเอง นอกจากปัจจัยทางบุคคล ปัจจัยทางสังคมในปัจจุบัน ก็ส่งผลให้เป็นโรคนี้ง่ายขึ้นเพราะช่องทางออนไลน์ต่างๆสามารถซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นนั่นเอง Shopaholic ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่า แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ลองสังเกตุพฤติกรรมของตัวเองกันดูนะคะว่าเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือเปล่า จะได้รีบรักษาได้ทันท่วงที
หากดูจากภายนอก เหล่า Shopaholic จะเหมือนเป็นคนที่มีกำลังซื้อมาก บางคนชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูเป็นคนที่มีฐานะดีและประสบความสำเร็จ ในขณะที่ชีวิตจริงนั้นกลับมีหนี้สินมากมาย หากไม่ใช่คนใกล้ชิดก็อาจไม่มีใครทราบถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะพวกเขามักปกปิดพฤติกรรมและปัญหาการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม อาจสังเกตอาการของ โรคเสพติดการช้อปปิ้ง (Shopaholic) ได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- เสพติดการช้อปปิ้งอย่างหนัก โดยต้องซื้อของเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์
- ไปช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด
- ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใบใหม่แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า
- ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ช้อปปิ้ง
- ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
- โกหกหรือลักขโมยเพื่อให้ได้ช้อปปิ้งต่อ
- รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังได้ช้อปปิ้ง แต่ก็ยังจะทำต่อไป
- ไม่สามารถจัดการการเงินของตนเองหรือไม่สามารถชำระหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้
- ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตนเองได้
การรักษาภาวะนี้จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของแต่ละคน บางรายอาจต้องจำกัดการใช้เงิน จำกัดวงเงินบัตรเครดิต หรือให้ผู้อื่นบริหารการเงินให้ แต่ส่วนใหญ่จิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy : CBT) ให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว หรือรักษาที่ต้นเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกังวลต่อการเข้าสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น หรือบางรายก็อาจเกิดจากปัญหาทางจิตอื่นๆ ซึ่งการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการ Shopaholic จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ปรับเปลี่ยนแนวความคิดและความรู้สึก รวมทั้งยุติพฤติกรรม “คลั่งช้อป” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนและความเข้าใจจากคนใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาเอาชนะปัญหาและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
หากใครมีพฤติกรรม Shopaholic แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทำให้สูญเสียความเชื่อใจจากเพื่อนและคนในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และล้มละลาย หากไม่สามารถจัดการกับหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้
เมื่อถึงจุดวิกฤติ บางรายอาจถึงขั้นขโมยของเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การถูกจับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็น Shopaholic ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ลองหันมาสำรวจพฤติกรรมตนเองกันสักนิดว่าการซื้อของคุณเข้าข่าย เสพติดการช้อปปิ้ง หรือไม่? หัวใจสำคัญที่สุดของการหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวก็คือ การบาลานซ์ความต้องการของตนเองให้สอดคล้องกับความจำเป็น ซื้อได้แต่ต้องไม่รบกวนการเงินในระยะยาว และไม่เป็นหนี้สินให้ตนเองต้องทุกข์ใจ
Credit : กรมสุขภาพจิต Department Of Mental Healt
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง